ระบบดับเพลิงด้วยสารเคมี

ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ FM-200

                   ระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาดเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนั้น มีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นคงจะเป็นสารที่ชื่อว่า “FM-200” หรือมีชื่อทางเคมีว่า “Heptafluoropropane” ซึ่งถือว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงสูงตัวหนึ่ง และก็ได้บอกอยู่แล้วว่าเป็นสารสะอาด ดังนั้นส่วนใหญ่เรามักจะใช้ FM-200 สำหรับดับเพลิงที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเลคโทรนิคที่มีมูลค่าสูง และบริเวณพื้นที่ห้องที่มีความสำคัญๆ ได้แก่ ห้องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ห้องควบคุมระบบโทรคมนาคม หรือห้องที่เก็บสินค้าหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยเจ้าสาร FM-200 นั้นจะไม่ทำให้อุปกรณ์ และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย พูดกันภาษาชาวบ้านก็คือห้องไหนกลัวน้ำถ้าเกิดใช้เป็นระบบสปริงเกลอร์ซึ่งใช้น้ำดับเพลิงแล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายในด้านทรัพย์สินก็เลือกใช้เป็นสารสะอาดดับเพลิง ถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงแต่ถ้าเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินแล้วยังไงก็คุ้ม 

FM-200 นั้น จัดเป็นสารสะอาดดับเพลิง ประเภทสารฮาโลคาร์บอน (Halocarbon Agent) เพราะว่ามีฟลูโอลีนเป็นองค์ประกอบหลัก (CF3CHFCF3) สำหรับส่วนประกอบของระบบที่สำคัญๆ นั้นได้แก่

  1. ถังบรรจุแก๊ส (Gas Cylinder)

           ตัวถังผลิตจาก Carbon Steel Alloy สีแดง ที่หัวถังจะต้องมีมาตรวัดแรงดัน (Pressure Gauge) พร้อมอุปกรณ์เช็คแรงดันในถัง (Low Pressure Supervisory Switch) นอกจากนี้จะต้องมีอุปกรณ์ปล่อยแก๊ส (Release Device) เป็นแบบ Gas Valve Assembly ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานเพื่อฉีดแก๊ส FM-200 โดยผ่าน Solenoid Valve เท่านั้น โดยถังบรรจุจะต้องวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการตรวจสอบ ทดสอบและการบำรุงรักษา นอกจากนี้ควรอยู่ใกล้กับพื้นที่ป้องกันนั้นๆทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการทดสอบ และการตอบสนองในสภาวะฉุกเฉิน

 

  1. ท่อและอุปกรณ์ประกอบ (Pipe and accessories)

           ท่อ ข้อต่อ และวาล์วต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน และจะต้องทนความดันใช้งานได้ไม่น้อยกว่าความดันภายในที่เกิดขึ้นภายในถังบรรจุที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 55 องศาเซลเซียส

 

  1. หัวฉีดแก๊ส (Discharge Nozzle)

          หัวฉีดถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปล่อยสารดับเพลิงภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที หัวสารดับเพลิงจะทำด้วยวัสดุที่ทนการกัดกร่อน เช่นอลูมินียม,เหล็กกล้าไร้สนิมและทองเหลือง สามารถฉีดได้รอบตัว 360 องศา หรือ 180 องศา

 

  1. ระบบตรวจจับ สั่งการและควบคุม
    (Detection,Actuation and Control System)

การควบคุมการทำงานของระบบใช้ระบบตรวจจับแบบอัตโนมัติ ซึ่งนิยมใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันซึ่งการสั่งการให้สามารถทำได้ทั้งระบบอัตโนมัติและด้วยมือ นอกจากนี้แล้วจะต้องมีระบบเตือนให้ทราบ ทั้งระบบเสียงและแสง รวมถึงป้ายเตือนให้อพยบ (Evacuation) และป้ายเตือนว่าสารฉีด แก๊สจะถูกฉีดออกมาจากถังบรรจุ โดยตู้ควบคุมจะควบคุมการทำงานของระบบด้วย Microprocessor ซึ่งจะควบคุมการทำงานของ Detector แบบ Cross Zone เสียงสัญญาณแจ้งเตือน,Manual Station,Pressure Switch และชุดสั่งการฉีดแก๊ส

 

สำหรับการทดสอบระบบนั้นเนื่องจากว่าสาร FM-200 ที่บรรจุในถังจะมีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่มีการทดสอบโดยการฉีดแก๊สจริงแต่จะทดสอบในลักษณะฟังก์ชั่นการทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ตรวจดูการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับ,การตรวจวงจรหลักทั้งหมดว่าตอบสนองถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น (สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานดูจากไดอะแกรมด้านล่าง)

 

              นอกจากทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานแล้วทุกๆระยะเวลาประมาณ 10 ปี จำเป็นจะต้องนำถังบรรจุไปทดสอบความสามารถในการรับแรงดันด้วย รวมถึงจะต้องมีการตรวจเช็คสภาพการใช้งานของอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น วาล์วและระบบท่อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้นั้นพร้อมใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นในทุกๆ 3 เดือนจะต้องตรวจสอบมาตรวัดแรงดันในถังทุกใบหาพบว่าความดัน ณ อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ลดต่ำกว่า 360 psig จะต้องถอดถังใบนั้นมาชั่งน้ำหนักและอาจต้องทำการบรรจุสารใหม่ (หากพบว่าน้ำหนักของสารลดลงมากกว่า 5% หรือความดันลดลงมากกว่า 10% ต้องนำถังไปบรรจุสารใหม่)